วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเพณีของชาวมอญ

ประเพณีของชาวมอญ



ประเพณีสงกรานต์ ชาวไทยและมอญกำหนดให้วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน ของทุกปี เช่นกัน อันเป็นระยะเวลาที่ชาวมอญจะร่วมประกอบประเพณีทางศาสนาอย่างพร้อมเพรียงกันถึง ๓ วัน ติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่การทำบุญเลี้ยงพระ ด้วยข้าวสงกรานต์ (ข้าวแช่) การแห่นกแห่ปลาไปปล่อยที่วัด การแห่หางหงส์ การสรงน้ำพระ การรดน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ตลอดจนการเล่นสาดน้ำสงกรานต์การเล่นสะบ้า และการเล่นทะแยมอญ แม้ว่าปัจจุบันมอญบางกลุ่ม เช่นที่ตำบลเจ็ดริ้ว จะละเว้นบ้างบางพิธีและหันมาปฏิบัติตามแบบไทย เพื่อความสะดวก ประหยัดเวลาและเงิน ตลอดจนขาดผู้ริเริ่ม บางพิธีในประเพณีสงกรานต์จึงเริ่มจะสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย เช่น การเล่นสะบ้า และการเล่นทะแยมอญ เป็นต้น แต่ก็ยังพอหาดูได้จาก มอญกลุ่มอื่น ๆ เช่น ที่ปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นต้น

การเล่นสะบ้า และทะแยมอญ เป็นการละเล่นของชาวมอญที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ ทว่า ปัจจุบันหาดูได้ยาก เนื่องจากเสื่อมความนิยมลงเช่นกัน จึงคงเหลืออยู่เฉพาะหมู่บ้านมอญบางแห่ง เท่านั้น เช่น ที่หมู่บ้านมอญ ตำบลบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ กับที่ปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และปัจจุบัน ณ วัดคลองครุ ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น

การเล่นสะบ้า เดิมนิยมเล่นกันในหมู่หนุ่มสาวมอญ ที่ยังเป็นโสด โดยจะใช้เวลาเล่นตอนเย็น หลังจากว่างงานหรือเสร็จสิ้นการทำบุญสงกรานต์แล้ว จะนัดหมายกัน ณ บริเวณลานบ้านใดบ้านหนึ่ง ภายในหมู่บ้านของตน พร้อมกับแบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายหญิงกับชายในจำนวนที่เท่ากัน และใช้ลูกสะบ้า ซึ่งทำด้วยไม้ลักษณะกลม ๆ แบน ๆ สำหรับทอย หรือเขย่งเตะ หรือโยนด้วยเท้าแล้วแต่โอกาส เป็นเครื่องมือประกอบการเล่นกะให้ถูกคู่เล่นของตน เพื่อจะได้ออกมาเล่นกันเป็นคู่ต่อไป

การเล่นทะแยมอญ เป็นการเล่นที่ใช้ได้เกือบทุกโอกาส ตั้งแต่ โกนจุก บวชนาค แต่งงาน ฉลองพระ ขึ้นบ้านใหม่ แก้บนเจ้า งานศพ ฯลฯ ประกอบด้วยผู้เล่นซึ่งทำหน้าที่ทั้งร้องและรำ ฝ่ายชายและหญิงฝ่ายละ ๑ คน มีเครื่องตนตรีประกอบการเล่น ๕ อย่าง คือ ซอสามสาย ขลุ่ย จะเข้ กลองเล็กสองหน้า ฉิ่ง ผู้เล่นจะร้องรำโต้ตอบกันด้วยเรื่องต่าง ๆ เป็นภาษามอญตามที่นิยมกัน หรือตามความประสงค์ของเจ้าภาพ เช่น เรื่องทศชาติ ชาดก ธรรมสอนใจ วัฒนธรรมสิบสองเดือน และเพลงเกี้ยวพาราสี เป็นต้น ทำนองเดียวกันกับเล่นลำตัดของไทยนั่นเอง จึงมีชาวมอญบางคนเรียกทะแยมอญว่า ลำตัดมอญ

ประเพณีรำผี เป็นพิธีที่สำคัญพิธีหนึ่งของชาวมอญ ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี และปัจจุบันยังคงประกอบพิธีนี้บ้างในอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยมีความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องจากความเคารพนับถือผีตั้งแต่ผีประจำหมู่บ้าน ผีบ้านผีเรือน ผีเต่า ผีงู ผีปลาไหล ผีไก่ ผีข้าวเหนียวเป็นต้น เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บุคคลในครอบครัว ผีจะได้อำนวยความเจริญรุ่งเรืองตามประสงค์ได้ เช่นคนในครอบครัวเจ็บป่วยบ่อย ๆ สมบัติผีชำรุด ของหาย ตลอดจนเกิดเรื่องเดือดร้อนต่าง ๆ อันถือว่าเป็นการผิดผี ในแต่ละครอบครัวจะต้องจัดให้มีการรำผี เพื่อขอขมาโทษต่อผีให้ผีหายโกรธเคือง จะได้ไม่มีเรื่องเดือดร้อนเกิดขึ้นอีก และบังเกิดแต่ความสุขความเจริญตลอดไป

พร้อมกันนั้นในการรำผีนอกจะต้องจัดเครื่องเซ่นตามประเพณีแล้ว ยังต้องสร้างโรงพิธีสำหรับใช้ในการรำผี รวมทั้งจะต้องมีเครื่องดนตรีต่าง ๆ ประกอบเช่น พิณพาทย์ ตะโพน ฉิ่ง ฯลฯ โดยให้ญาติพี่น้องที่นับถือผีเดียวกันและผู้ป่วยร่วมกันร่ายรำไปตาม จังหวะดนตรีจนกว่าจะเสร็จพิธี

ประเพณีล้างเท้าพระ เป็นอีกประเพณีหนึ่งในหลาย ๆ ประเพณีของชาวมอญ ในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่เช่นเดียวกับมอญ ในจังหวัดอื่น ๆ อาทิ จังหวัดสมุทรปราการ โดยจัดทำขึ้นในวันทำบุญออกพรรษาซึ่งเริ่มจากการนำดอกไม้ต่าง ๆ หลากหลายสีมาวางบนผ้าที่ปูลาดไว้กับพื้นดินเพื่อให้พระสงฆ์ที่กำลัง จะเดินเข้าสู่พระอุโบสถ เหยียบหรือย่ำ ถือเป็นการล้างเท้าพระภิกษุที่ได้ปฏิบัติรักษาศีลมาตลอดพรรษา และเป็นอีก ประเพณีหนึ่งซึ่งจัดว่าเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติอีกเช่นกัน

ความเชื่อของชาวมอญ

ความเชื่อของชาวมอญ


๑.ผีประจำหมู่บ้าน
เชื่อกันว่าเป็นผีที่ปกปักรักษาและคุ้มครองคนในหมู่บ้านทั้งหมด โดยมากจะสร้างศาลให้เป็นที่ประดิษฐานไว้ในหมู่บ้านบริเวณชายทุ่ง ซึ่งผู้คนสามารถมาเซ่นไหว้ได้อย่างสะดวก และจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คนในหมู่บ้าน โดยมี"คนทรง" เป็นผู้ประกอบพิธีพร้อมทั้งเข้าทรงทำนายทายทัก ถึงสภาพความเป็นไปในปัจจุบัน ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของอนาคต หรือแก้ไขปัญหาเดือดร้อนต่าง ๆ เป็นต้น
๒.ผีบ้านผีเรือน               เป็นผีประจำตระกูล ซึ่งส่วนใหญ่จะตกทอดการสืบผีไปยังบุตรชาย คนหัวปีเรื่อยไปแต่ที่ตำบลเจ็ดริ้ว การสืบผีประจำตระกูลนั้นจะตกทอดไปยังบุตรชายคนสุดท้องแทน หากไม่มีบุตรชายสืบสกุลผีนั้นก็จะขาดจากสกุลนั้นไป จึงต้องมีการรับผีประจำตระกูลด้วยการให้ ผู้ที่รับจะต้องทำหน้าที่เก็บรักษาสมบัติประจำตัวผี อันประกอบไปด้วย แหวนผี ๑ วง เสื้อ ๑ ตัว ผ้าโพกหัว ๑ ผืน โสร่ง ๑ ผืน หม้อ ๑ ใบ



ซึ่งของทั้งหมดจะเก็บรวมไว้ในตะกร้าแขวนไว้ที่เสาตรงหัวนอนของผู้รับผีนั้น และหน้าที่ของผู้รับผีอีกประการหนึ่งก็คือ ทำการรำผีตามประเพณีอยู่เสมอ



อนึ่ง หากมีเหตุการณ์ต่าง ๆ อันไม่คาดฝันเกิดขึ้น อาทิ คนในครอบครัวเจ็บป่วยบ่อย ๆ สมบัติผีชำรุดเช่นพลอยบนหัวผีหลุด แหวนผีหาย ผ้าในตะกร้าขาด ตลอดจนเกิดเรื่องเดือดร้อน ต่าง ๆ เป็นต้น ฉนั้น เมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ในแต่ละครอบครัว ก็จะต้องจัดให้มีการรำผี เพื่อขอขมาโทษต่อผี แสดงความเคารพนับถือ และความเป็นศิริมงคลแก่ครอบครัว ผีจะได้หายโกรธเคือง จะได้ไม่มีเรื่องเดือดร้อนอีก และบังเกิดแต่ความสุขความเจริญตลอดไป


นอกจากผีทั้งสองชนิดนี้แล้ว ชาวมอญยังนับถือผีที่เป็นสัตว์ หรือพืชต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับผีบ้านผีเรือน เช่น ผีเต่า ผีงู ผีปลาไหล ผีไก่ ผีข้าวเหนียว ฯลฯ




ความเชื่อของชาวไทยมอญ
ในหนังสือ 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ.2547  ผศ.อาภรณ์ สุนทรวาท ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้รวบรวมความเชื่อของชาวไทยมอญ ไว้ดังนี้
  1. เชื่อว่าการทำบุญให้ทานอะไรก็ตามย่อมส่งผลถึงผู้ที่เราปรารถนาจะอุทิศส่วนกุศลให้ ชาวไทยมอญส่วนใหญ่ปรารถนาจะนิพพาน โดนสังเกตจากคำอธิษฐานที่ว่า"นิพพาน ปัจจะโยโหตุ" ขอให้เป็นปัจจัย สำเร็จพระนิพพานด้วยเทอญ
  2. เชื่อว่าการไปทำบุญ จะต้องแต่งตัวให้ถูกต้องตามกาละเทศะ ภาชนะที่ใส่อาหารไปทำบุญจะต้องตระเตรียมอย่างปราณีต เพราะจะส่งผลไปถึงอนาคตชาติ
  3. มีความเชื่อว่าการทำบุญที่ทำบุญแล้วได้บุญมากคือ -การสร้างพระพุทธ คือ การสร้างพระพุทธรูป-การสร้างพระธรรม คือ การสร้างพระไตรปิฏก และพระอภิธรรม-การสร้างพระสงฆ์ คือ การบวชพระ
  4. มีความเชื่อในการนับถือพระพุทธศาสนา ชาวไทยมอญมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก โดยถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นองค์เคารพสักการะบูชาสูงสุด
  5. ความเชื่อในการนับถือพระพุทธศาสนา และเคร่งครัดในศาสนา พระมอญจะถือเคร่งทางวินัยมาก ถึงกับมีคำที่ว่า"ถือศีลต้องพระไทย วินัยต้องพระมอญ" ซึ่งการถือศีลอย่างเคร่งครัดจึงเป็นต้นกำเนิดของพระธรรมยุติกนิกายในประเทศไทย
  6. ปัจจุบันนี้พระมอญยังเคร่งครัดวินัยอยู่ จะไม่เห็นพระมอญในเวลากลางวันอาบน้ำริมน้ำมานั่งเล่นหน้าวัด เดินไปในหมู่บ้าน เป็นต้น
  7. ในวัดมอญทุกวัด จะมีศาลเจ้าประจำวัด มอญเรียกว่า "ตะละพาน"
  8. ชาวบ้านจะเคารพสถานที่ในวัด
  9. ความเชื่อว่าวัดใน ช่อฟ้าใบระกา หน้าบันพังทลายลงมา อย่าไดนำขึ้นไปอีก
  10. มีความเชื่อว่าวัดใดที่กำลังปลุกเสกพระอยู่ ผู้หญิง สุนัข เข้าไปไม่ได้
  11. มีความเชื่อเรื่องการบวชเรียน มักจะเห็นว่า ชาวบ้านเดินผ่านหน้าโบสถ์ก็ต้องแสดงความเคารพกราบไหว้พระ ผู้หญิงห้ามเข้าไปในโบสถ์หรือบริเวณกุฏิพระ ชาวไทยมอญมีความเชื่อว่า ลูกผู้ชายที่เกิดในสายเลือดของชาวพุทธจะต้องบวช ชีวิตลูกผู้ชายถึงจะสมบูรณ์และได้กุศลอย่างแรง
  12. มีความเชื่อ เมื่อบ้านใดมีทารกเกิดใหม่จะต้องนำทารกนั้นไปใส่ในกระด้งร่อน แล้วพูดว่า "สามวันลูกผี สี่วันลูกคน" ต่อเด็ก
  13. มีความเชื่อเรื่องการโกนผมไฟ การโกนผมไฟ เป็นการสู่ขวัญเด็ก และสู่ขวัญบิดามารดา เพื่อให้เกิดความสบายใจ ด้วยเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของพิธี ที่จะทำให้เป็นมงคลต่อเด็ก
  14. มีความเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำประณีตได้ประณีต
  15. มีความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกเรือนว่า เวลาปลูกสร้างบ้านเรือนให้ปลูกวันเกิดของผู้สร้าง (เจ้าของ)
  16. มีความเชื่อว่า เวลาปลูกบ้านต้องปลูกให้เสาเท่ากันหมด เชื่อว่าจะมีความสุข
  17. มีความเชื่อว่า เมื่อจะขึ้นบ้านใหม่ต้องเลือกวันและมีกำหนดไว้ว่าแต่ละวันจะทำอะไร
  18. มีความเชื่อเกี่ยวกับ ความกตัญญูกตเวที น้องๆ ควรเชื่อฟังพี่คนโตซึ่งได้ถ่ายทอดผีบรรพบุรุษแห่งตระกูล
  19. มีความเชื่อว่า ระบบเพื่อนบ้านและระบบเครือญาติทำให้การเป็นอยู่ในสังคม มีการพึ่งพาถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันให้ความเกรงใจและความเคารพนับถือกัน
  20. มีความเชื่อว่า บุคคลที่มีนามสกุลเดียวกัน จะจัดงานบวชนาคกับแต่งงานวันเดยวกันไม่ได้
  21. เมื่อมีลูกสาวที่แต่งงานแล้ว จะให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น ไม่ให้นอนบ้านเดียวกับพ่อแม่
  22. มีความเชื่อว่า ตุ๊กตาเป็นสิ่งไม่ดี จึงห้ามนำเข้าบ้าน เพราะจะทำให้ไม่มีความสุข
  23. มีความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้ว่า ห้ามปลูกต้นราตรี ต้นลั่นทม ต้นพิกุล ไว้ในบ้านเพราะต้นไม้เหล่านี้เป็นต้นไม้ที่อยู่ในวัด
  24. มีความเชื่อว่า ต้นไม้ที่มีชื่อต่อไปนี้ คือ ต้นโพธิ์ ต้นหว้า ต้นบุนนาค ต้นงิ้ว ถ้างอกขึ้นข้างๆ บ้าน รีบทำลายเสียอย่าได้เก็บไว้ จะทำให้เจ้าของบ้านได้รับความเสียหาย
  25. มีคววามเชื่อในเรื่องเต่า ชาวไทยมอญจะไม่จับเต่ามาเป็นอาหาร ไม่จับตัวเต่าที่มีชีวิต เมื่อพบเห็นจึงต้องพูดว่า "เต่าตัวนี้ตายแล้ว" เพื่อเป็นการแก้เคล็ด แล้วนำเต่าไปปล่อย
  26. มีความเชื่อว่า ศพคนตายต้องหันหน้าไปทางทิศเหนือ
  27. มีความเชื่อว่า ภายในเดือน 6 เดือน 9 จะมีการทำพิธีไหว้ผีบ้านผีเรือน ปู่ย่า ตายาย โโยมีเครื่องไหว้ คือ กล้วย ไก่ หมู ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว
  28. มีความเชื่อว่า ที่บ้านชาวไทยมอญจะต้องมีที่ตั้งบูชาผีบรรพบุรุษ มีวิธีเซ่นผี เลี้ยงผี พิธีรำผี
  29. มีความเชื่อและเคารพบรรพบุรุษ ไม่ว่าท่านจะล่วงลับไปแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม เพราะการเคารพเทิดทูนบูชาบรรพบุรุษ ย่อมนำความเจริญมาถึงตนและครอบครัว ตามหลักพระพุทธศาสนาที่ว่า "ปูชนียานัง" หมายถึงการบูชาบุคคลที่ควรเคารพ
  30. มีความเชื่อว่า บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วยังหิวโหยอยู่ ยังชอบนับประทานอาหารตามเทศกาล กล่าวคือขนมกาละแม จะมีในเทศกาลสงกรานต์ ขนมกระยาสารทมีในเทศกาลออกพรรษา ข้าวเม่าทอด มีในเทศกาลทอดกฐิน ข้าวต้มลูกโยนน้ำผึ้ง มีในวันเพ็ญเดือนสิบ ดังนั้นอาหารที่นำไปถวายพระ จะต้องทำอาหารให้ถูกเทศกาล ไม่เช่นนั้นแล้วบรรพบุรุษจะไม่ได้รับส่วนกุศลที่อุทิศไปให้
  31. มีความเชื่อว่า บรรพบุรุษกับพวก เขาสามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลา และมักจะพบว่า ผีบรรพบุรุษได้รู้ด้วยการเซ่นไหว้อยู่เสมอ การทำบุญต้องอุทิศส่วนกุศลให้ การแต่งงานถือว่าจำเป็นจะต้องบอกให้ผีบรรพบุรุษรู้ เพราะถือว่ามีสมาชิกใหม่มาเพิ่มในครอบครัว ต้องให้ผีบรรพบุรุษทั้งสองฝ่ายรับรู้ โดยจัดสิ่งของเซ่นไหว้ เช่น ผ้าขาว เหล้า ไก่ โดยฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นฝ่ายจัดหา ที่เรียกว่า เครื่องขันหมากจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งให้เจ้าสาว เซ่นไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาว อีกส่วนให้เจ้าบ่าวนำไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษของเจ้าบ่าว
  32. มีความเชื่อว่า ผีบรรพบุรุษ เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ที่เคารพมาแต่อยู่กรุงหงสาวดี และอัญเชิญมาประดิษฐานในชุมชนของตัวเอง โดยปลูกศาลเจ้าให้เป็นที่สถิตดวงวิญญาณเหล่านั้น เพราะความผูกพันก็มีอยู่ตลอดเวลา
  33. มีความเชื่อในผีบรรพบุรุษ ชาวไทยมอญมีความเชื่อว่า ลูกชายคนโตของตระกูลจะเป็นผู้รับผีบรรพบุรุษต่อจากบิดา-มารดา หรือคนรุ่นเก่าที่ล่วงลับไปแล้ว ที่บ้านจะมีที่ตั้งผีบรรพบุรุษ  เชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะสิงสถิตอยู่ที่เสาเอกของเรือน โดยมีสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเสาผี คือ หีบ หรือกระบุ้งใส่ผ้าผี ได้แก่ สไบ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า แหวนหัวพลอยแดง แขวนไว้ที่เสาผี
  34. เชื่อว่า การที่ผู้หญิงไปแต่งงานกับคนต่างตระกูลหรือต่างผี จะต้องทำพิธีคืนผีเพื่อบอกกล่าวก่อนที่จะไปเข้ากับผีฝ่ายสามี
  35. เชื่อว่า ผู้ใดที่อยู่ในตระกูลทำผิดซึ่งระเบียบหรือข้อห้าม จะทำให้มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นซึ่งจะต้องจัดพิธรรำผี
  36. เชื่อว่า ชายหญิงที่ไม่ใช่ลูก (คนละผีกัน) จะร่วมหลับนอนกันภายในบ้านไม่ได้
  37. มีความเชื่อว่า หญิงมีครรภ์ที่ไม่ใช่ลูกสาวห้ามนอนบนเรือน
  38. มีความเชื่อว่า เมื่อมีคนในตระกูลตายหรือท้องในปีนั้น (สิ้นสุดเดือน 6) ห้ามคนในตระกูลจัดงานพิธีต่างๆ เช่น พิธโกนจุก แต่งงาน บวช หรือเลี้ยงผี
  39. มีความเชื่อว่า หมู่บ้านชาวไทยมอญทุกหมู่บ้าน จะต้องมีศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ทุกๆ ปีหลังสงกรานต์แล้วจะต้องทำพิธี "รำเจ้า" ประจำหมู่บ้าน


ศิลปะวัฒธรรมมอญ


ศิลปะวัฒธรรมมอญ

"ศิลปวัฒนธรรมมอญ"นั้น กลายเป็นศิลปวัฒนธรรมของพม่าไปหมด ศิลปวัฒนธรรมส่วนใหญ่นั้น พม่าได้รับไปจาก"มอญ" คือ "ศิลปวัฒนธรรมมอญ"มีเหนือพม่า เช่น สถาปัตยกรรมแบบปรางค์ ขอม-เขมร มีต่อสถาปัตยกรรมไทย ศิลปสถาปัตยกรรมประเภทเรือนยอด (กุฏาคาร) คือหลังคาที่มียอดแหลมต่อขึ้นไป โดยเฉพาะเรือนยอดทรงมณฑปนี้ เรือนยอด (Spire) ทรงมณฑปนี้ เป็น"สถาปัตยกรรมมอญ" และไทยนำมาดัดแปลงต่อมา
ศิลปดนตรี นั้น ไทยได้รับอิทธิพลจาก"มอญ"มามาก เช่น ไทยเรารับ"ปี่พาทย์มอญ" และรับได้ดีทั้งรักษาไว้จนปัจจุบัน และให้เกียรติ์เรียกว่า ปี่พาทย์มอญ นิยมบรรเลงในงานศพ ดนตรีไทยที่มีชื่อเพลงว่า มอญ นั้น นับได้ 17 เพลง เช่น มอญดูดาว มอญชมจันทร์ มอญรำดาบ มอญอ้อยอิ่ง นอกจากนี้ก็ยังมี มอญร้องไห้ มอญนกขมิ้น ฯลฯ และยังมี"แขกมอญ" คือ ทำนองทั้งแขกทั้งมอญ เช่น แขกมอญบางขุนพรหม แขกมอญบางช้าง เป็นต้น เพลงทำนองของมอญ มีความสง่าภาคภูมิ เป็นผู้ดีมีวัฒนธรรม และค่อนข้างจะเย็นเศร้า ซึ่งเป็นลักษณะของผู้มีวัฒนธรรมสูง ย่อมสงวนทีท่าบ้างเป็นธรรมดา แต่ที่สนุกสนานก็มีบ้าง เช่น กราวรำมอญ มอญแปลง ฯ ส่วนเครื่องดนตรีประเภทให้จังหวะ คือ กลอง ที่เรียกว่าเปิงมาง นั้น คาดว่าเป็น"มอญ" ไทยเรานำมาผสมวง ทำคอกล้อม เป็นวงกลมหลายวง เรียกว่า เปิงมางคอก ตีแล้วฟังสนุกสนาน

การแต่งกายตามอัตตลักษณ์ชาวมอญ



การแต่งกายของสุภาพสตรีชาวมอญในปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่ก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของตนเองนั่นก็คือสรวมเสื้อแขนกระบอก(บางคนก็เป็นสามส่วน)นุ่งผ้าถุงเกล้ามวยผมคล้องผ้าสะไบ  ผ้าสะไบมีสามลักษณะ  คือ
๑.  คล้องคอชายของผ้าทั้งสองห้อยมาด้านหน้า
๒.ใช้สะไปไปทางด้านซ้ายในงานบุญ
๓.  ใช้พาดไหล่ซ้ายยาวลงมาตลอด



การแต่งกายของสุภาพบุรุษชาวมอญจะสรมเสื้อคอกลมแขนยาวบ้างสั้นบ้างตามโอกาสนุ่งลอยชายพาดผ้าขาวม้า  การพาดผ้าขาวม้ามีอยู่สามลักษณะ  คือ 
 ๑.  พาดไหล่ซ้ายข้างเดียว 
 ๒.  พาดให้ชายทั้งสองไปอยู่ด้านหลัง 
 ๓.  ใช้สะไบด้านซ้ายในงานบุญ



ภาษาและอักษรมอญ


ภาษามอญ 
ภาษามอญ

           ภาษามอญ เป็นภาษาในสายโมนิค ซึ่งเป็นสายหนึ่งในตระกูลภาษามอญ-เขมร 12 สาย ภาษาตระกูลมอญ-เขมร เป็นภาษาเก่าแก่ใช้กันมานานประมาณ 3,000-4,000 ปีมาแล้ว มีผู้ใช้ภาษานี้อยู่ประมาณ 5,000,000 คน ภาษามอญ นี้จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเซียติค (Austroasiatic Languages) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอยู่ในแถบอินโดจีนและทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

          เมื่อพิจารณาลักษณะทางไวยากรณ์ ภาษามอญ จัดอยู่ในประเภทภาษาคำติดต่อ (Agglutinative) อยู่ในกลุ่มภาษาตะวันออกเฉียงใต้ (South Eastern Flank Group)

         นักภาษาศาสตร์ ชื่อ วิลเฮม สชมิต ( Willhelm Schmidt) ได้จัดให้อยู่ในตระกูลภาษาสายใต้ (Austric Southern family)
ลักษณะภาษามอญ
          พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวถึงภาษามอญไว้ว่า “ภาษามอญ นั้นมีลักษณะเป็นภาษาคำโดด ซึ่งมีรูปภาษาคำติดต่อปนอยู่ด้วย
          ลูช (Luce) ได้ให้คำอธบายเพิ่มเติมว่า ภาษามอญ อาจกล่าวได้ว่า เป็นภาษาคำโดดมาแต่เดิม แต่เหตุที่กลายเป็นภาษาคำติดต่อได้นั้น เนื่องมาจากสาเหตุที่ว่า ได้รับอิทธิพลของภาษา ในสายออสโตรเนเซียนเข้าไปปะปน ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
         ประการที่ 1  ได้แก่การรุกรานของกลุ่มชนเชื้อชาติมลายู เข้าไปในดินแดนมอญ
        ประการที่ 2 ได้แก่การอพยพลงมาทางใต้ของชนที่ใช้ภาษาต่างกันทั้งสองสายในดินแดนแถบแหลมอินโดจีน แต่เดิมนั้น ภาษามอญ จัดเป็นภาษาที่มีหมวดคำพื้นฐาน หรือคำศัพท์ร่วมเชื้อสาย (Cognate word) ร่วมกันอยู่มากและเป็นภาษาที่มีลักษณะ ภาษาคำโดด แต่ต่อมาได้รับอิทธิพลของภาษาตระกูลออสโตรเนเชียน ซึ่งมีหมวดคำ รากศัพท์ ชนิด 2 พยางค์ (Disyllable base) เข้ามาประสม ทำให้คนมอญโบราณ พยายาทที่จะสร้างคำสองพยางค์ขึ้น โดยการแทรกสระตรงส่วนที่จะกลายเป็นพยางค์หน้าของคำสองพยางค์หน้า ของคำสองพยางค์ที่สร้างขึ้นจากคำเดิมหนึ่งพยางค์ และเน้นการออกเสียงในพยางค์ที่สอง ไม่เน้นเสียงที่พยางค์หน้า  ซึ่งได้แทรกสระลงไปแล้ว ทำให้เกิดคำสองพยางค์ขึ้น

         การออกเสียงของคำซึ่งไม่เน้นการออกเสียงในพยางค์แรก มีผลทำให้เกิดการละพยางค์แรกทิ้ง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลในพยางค์แรกได้ง่าย ในระยะช่วงมอญสมัยกลาง จึงสามารถสร้างคำโดยการใช้การผสานคำ (affixation) กับคำพยางค์แรก เพราะสามารถนำหน่วยหน่วยผสานชนิดต่าง ๆ เช่น หน่วยผสานหน้าศัพท์และหน่วยผสานกลางศัพท์ (prefix infix) ประกอบเข้ากับพยางค์แรก เพื่อให้มีหน้าที่ทางไวยากรณ์ อีกทั้งการใช้หน่วยผสานกลางศัพท์ และการใช้สระต่าง ๆ กับพยางค์แรก ในคำสองพยางค์ ก็จะเป็นการช่วยเน้นให้พยางค์แรกเด่นชัดขึ้นด้วย แต่พยางค์หลังเป็นส่วนที่มีความหมายเดิม

         สรุปความว่า คำมอญ จะมีลักษณะเป็นคำพยางค์เดียว หรือสองพยางค์   ส่วนคำหลายพยางค์ เป็นคำที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาบาลีและสันสกฤต และคำที่เกิดจากการเติมหน่วยคำผสานดังที่กล่าวมาแล้ว

         ภาษามอญ เป็นภาษาที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ไม่มีการผันคำนาม คำกริยา ตามกฏบังคับทางไวยากรณ์ ประโยคประกอบด้วย คำที่ทำหน้าประธาน กริยา และกรรม ส่วนขยายอยู่หลังคำที่ถูกขยาย

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การอพยพเข้าประเทศไทยของชาวมอญ


 การอพยพเข้าประเทศไทยของชาวมอญ 
     สมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระเนรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราชบรรพบุรุษมอญได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งกษัตริย์ของไทย คือ พระยาเกียน พระยาราม ผู้เป็นกำลังสำคัญในกองทหารอาสามอญ สมัยอยุธยาถึงสมัยกรุงธนบุรีรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวไทยมอญได้เข้ามาอยู่ประเทศไทยและตั้งถิ่นฐานแถบลุ่มแม่น้ำในพื้นที่ สามโคก-ปทุมธานี ปากเกร็ด-นนทบุรี พระประแดง-สมุทรปราการ สมุทรสาคร ซึ่งชาวไทยมอญที่อาศัยในประเทศไทยทั้งหมดนี้ต่างมีความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีในกลุ่มตน ซึ่งมีการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากกลุ่มคนที่อยู่รอบข้างตามความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือมาเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตของกลุ่ม และยังคงสืบทอดต่อมายังคนรุ่นหลังในปัจจุบัน 
      




ประวัติความเป็นมา


มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ มีอารยธรรมรุ่งเรืองมากชนชาติหนึ่ง จากพงศาวดารพม่ากล่าวว่า "มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่า มาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล" คาดว่าน่าจะอพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชีย เข้ามาตั้งอาณาจักรของตนทางตอนใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิ และแม่น้ำสะโตง ซึ่งบริเวณนี้ในเอกสารของจีน และอินเดียเรียกว่า "ดินแดนสุวรรณภูมิ"
ในพุทธศตวรรษที่ 2 ศูนย์กลาง ของ  "อาณาจักรมอญ"  คืออาณาจักรสุธรรมวดีหรือสะเทิม (Thaton) จากพงศาวดารมอญ กล่าวไว้ว่าอาณาจักรสะเทิมว่า อาณาจักรสะเทิมสร้างโดยพระราชโอรส 2 พระองค์ของพระเจ้าติสสะ แห่งแคว้นหนึ่งของอินเดีย ก่อนปี พ.ศ. 241 พระองค์นำ พลพรรคลงเรือสำเภา มาจอดที่อ่าวเมาะตะมะ และตั้งรากฐาน ซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของเมือง  อาณาจักรสะเทิม  รุ่งเรืองมาก มีการค้าขายติดต่ออย่างใกล้ชิดกับประเทศอินเดีย และลังกา และได้รับเอาอารยธรรมของอินเดียมาใช้ ทั้งทางด้านอักษรศาสตร์ และศาสนา โดยเฉพาะรับเอาพุทธศาสนานิกายหินยานมา มอญมีบทบาทในการถ่ายทอดอารยธรรมอินเดีย ไปยังชนชาติอื่นอย่าง  ชาวพม่า  ไทย และลาว เจริญสูง มีความรู้ดี ทางด้านการเกษตร และมีความชำนาญ ในการชลประทาน โดยเป็นผู้ริเริ่มระบบชลประทานขึ้น ในลุ่มน้ำอิระวดี ทางตอนกลางของประเทศพม่า

พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

วงศ์ของอาณาจักรชนชาติมอญนั้น อาจแบ่งได้เป็น 3 ยุค ยุคแรกคือยุคราชวงศ์สะเทิม-สุธรรมวดี มีกษัตริย์ปกครอง 57 พระองค์ เริ่มจากสมัยพระเจ้าสีหราชา มาจนถึงสมัยพระเจ้ามนูหา เชื่อว่ายุคนี้ครอบครองพื้นที่ได้ ทั้งอาณาจักรทวารวดีและอาณาจักรสะเทิม ยุคแรกสิ้นสุดลงเมื่อพระเจ้าอโนรธาแห่งพุกาม ยกทัพมาตีเมืองสะเทิมในสมัยพระเจ้ามนูหา ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านเชื่อว่าพระเจ้าอโนรธาน่าจะยกมาตีถึงนครปฐม
ยุคที่สอง เป็นยุคราชวงศ์พะโค-หงสาวดี มีกษัตริย์ปกครอง 17 พระองค์ องค์แรก ๆ คือ พระเจ้าสมละและพระเจ้าวิมละ และสิ้นสุดในสมัยพระเจ้าติสสะ ส่วนยุคที่ 3 คือยุคราชวงศ์เมาะตะมะ-พะโค เริ่มจากสมัยพระเจ้าวารีรู หรือพระเจ้าฟ้ารั่ว พระองค์มีมเหสีเป็นราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์ของไทย ต่อมาในสมัยพญาอู ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ เมืองพะโคหรือหงสาวดี ราชบุตรของพระองค์คือพญาน้อย ซึ่งต่อมาก็คือพระเจ้าราชาธิราช ผู้ทำสงครามยาวนานกับกษัตริย์พม่าในสมัยพระเจ้าซวาส่อแก กับ พระเจ้ามีงคอง ขุนพลสำคัญของพระเจ้าราชาธิราช ก็คือ สมิงพระราม ละกูนเอง และแอมูน-ทยา กษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญคือ พระเจ้าพยะมองธิราช ซึ่งพระเจ้าอลองพยาปราบมอญ จนพ่ายในปี ค.ศ. 1757


หลักฐานทางประวัติศาสตร์

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในสมัยพุทธศตวรรษที่ 11–13 คือเหรียญเงินเส้นผ่าศูนย์กลาง 19 ม.ม. พบที่นครปฐม และอู่ทองนั้น พบว่ามีอักษรจารึกไว้ว่า “ศรีทวารวดีศวร”และ มีรูปหม้อน้ำกลศอยู่อีกด้านหนึ่ง ทำให้เชื่อได้ว่า ชนชาติมอญโบราณ ได้ตั้งอาณาจักรทวารวดี (บางแห่งเรียกทวาราวดี) ขึ้นในภาคกลางของดินแดนสุวรรณภูมิ
มีศูนย์กลางที่เมืองนครปฐมโบราณ (ลุ่มแม่น้ำท่าจีนหรือนครชัยศรี) กับเมืองอู่ทองและเมืองละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาได้ขยายอำนาจขึ้นไป ถึงเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน มีหลักฐานเล่าไว้ว่า ราว พ.ศ. 1100 พระนางจามเทวี ราชธิดาของเจ้าเมืองลวปุระหรือละโว้ลพบุรี ได้อพยพผู้คนขึ้นไปตั้งเมืองหริภุญชัยที่ลำพูน ส่วนที่เมืองนครปฐมนั้นมีการพบ พระปฐมเจดีย์ และมีการพบจารึกภาษาปัลลวะ บาลี สันสกฤต และ ภาษามอญ ที่บริเวณพระปฐมเจดีย์และบริเวณใกล้เคียง พบจารึก ภาษามอญ อักษรปัลลวะ บันทึกเรื่องการสร้างพระพุทธรูป เสาหงส์ วิหาร และแนวต้นมะพร้าวเป็นอาณาเขตพระอารามที่วัดโพธิ์ร้าง จังหวัดนครปฐม อายุราว พ.ศ. 1200 (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์) และพบ จารึกมอญ ที่ลำพูนอายุราว พ.ศ. 1628 (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน)
ต่อมาอาณาจักรขอมหลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคตใน พ.ศ. 1732 อำนาจก็เริ่มเสื่อมลง รวมถึงให้พ่อขุนบางกลางหาว ที่สถาปนาเป็น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และประกาศตั้งอาณาจักรสุโขทัย เป็นอิสระจากการปกครองของขอม พ่อขุนรามคำแหง พระราชโอรสของขุนศรีอินทราทิตย์ ได้ครองราชย์และทรงดัดแปลงอักษรขอมและ มอญ มาประดิษฐเป็นลายสือไทย
ด้านจารึกภาษามอญ บนใบลานนั้น พบมากมายตาม หมู่บ้านมอญ ในประเทศไทย ส่วนที่ประเทศพม่าพบมากตาม หมู่บ้านมอญในเมืองสะเทิมและเมืองไจก์ขมี ซึ่งมีการคัดลอกและรวบรวมนำมาเก็บไว้ ที่หอสมุดแห่งชาติเมืองย่างกุ้ง และที่ห้องสมุดมอญเมืองเมาะลำไย นอกจากนี้กองโบราณคดีและกองวัฒนธรรม ยังได้จัดพิมพ์วรรณกรรม ชาดก ตำรามอญ และเคยมีการริเริ่มจัดพิมพ์พจนานุกรมมอญ-พม่าอีกด้วยมอญอพยพ
ทุกวันนี้ ชนชาติมอญ ไม่มีอาณาเขตประเทศปกครองตนเอง เนื่องจากตกอยู่ในภาวะสงคราม และการแย่งชิงราชสมบัติกันเอง และการรุกรานของพม่า ชาวมอญอยู่อย่างแสนสาหัส ถูกกดขี่รีดไถ การเกณฑ์แรงงานก่อสร้าง ทำไร่นาหาเสบียงเพื่อการสงคราม และเกณฑ์เข้ากองทัพ โดยเฉพาะสงครามในปี พ.ศ. 2300 เป็นสงครามครั้งสุดท้าย ที่คนมอญพ่ายแพ้แก่พม่าอย่างราบคาบ ชาวมอญส่วนหนึ่งจึงอพยพโยกย้ายเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในเมืองไทยหลายต่อหลายครั้ง เท่าที่มีการจดบันทึกเอาไว้รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เมื่อ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตีหงสาวดีแตกใน พ.ศ. 2082 ชาวมอญจำนวนมากหนีเข้ามากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตัวเมืองกรุงศรีอยุธยาชั้นนอก พระยาเกียรติพระยารามและครัวเรือน ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตัวเมืองชั้นใน ใกล้พระอารามวัดขุนแสน และเมื่อถึง พ.ศ. 2084 ราชวงศ์ตองอูตีเมืองเมาะตะมะแตก มีการฆ่าฟันชาวมอญลงขนาดใหญ่ ก็เข้าใจว่ามีมอญหนีเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาอีก ถือเป็นระลอกแรกของมอญอพยพ
ครั้งที่ 2 เมื่อพระนเรศวรเสด็จไปพม่าเมื่อคราวพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ แล้วประกาศเอกราช ทรงชักชวนมอญที่เข้าสวามิภักดิ์ ให้อพยพเข้ามาพร้อมกัน ราว พ.ศ. 2127 ในการอพยพครั้งนี้ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่ใด แต่คาดว่าคงเป็นย่านเดียวกับการอพยพคราวแรก
ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อหงสาวดีถูกยะไข่ทำลายใน พ.ศ. 2138 ครั้งนี้ก็มีการอพยพใหญ่ของ มอญ มาทางตะวันออกเข้าสู่ดินแดนของกรุงศรีอยุธยาอีก
ครั้งที่ 4 หลังจากที่ราชวงศ์ตองอูย้ายราชธานีไปอยู่ที่อังวะ หลังจากหงสาวดีถูกทำลายแล้ว พวกมอญ ตั้งอำนาจขึ้นใหม่ในดินแดนของตน ต่อมา ถึงรัชกาลพระเจ้านอกเปกหลุน พม่าจึงยกทัพมาปราบพวกมอญอีกในพ.ศ. 2156 ทำให้เกิดการอพยพของมอญเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาอีก หลักฐานบางแห่งกล่าวว่า มอญ กลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามแนวชายแดนไทย
ครั้งที่ 5 ใน พ.ศ. 2204 หรือ 2205 พวกมอญในเมืองเมาะตะมะก่อการกบฎขึ้นอีก แต่ถูกพม่าปราบลงได้ จึงต้องอพยพหนีเข้ากรุงศรีอยุธยาอีกระลอกหนึ่ง ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้าใจว่ากลุ่มนี้สัมพันธ์กับกลุ่มมอญที่ตั้งอยู่ชายแดน
ครั้งที่ 6 หลังจากที่มอญสามารถตั้งอาณาจักรของตนขึ้นได้ใหม่ในปลายราชวงศ์ตองอู แล้วยกกำลังไปตีกรุงอังวะแตก อลองพญารวบรวมกำลังพม่าแล้วลุกขึ้นต่อสู้จนในที่สุดก็ตั้งราชวงศ์อลองพญาได้ และใน พ.ศ. 2300 ก็สามารถตีหงสาวดีได้อีก นโยบายของราชวงศ์นี้คือ กลืน มอญ ให้เป็นพม่าโดยวิธีรุนแรง จึงมีชาวมอญอพยพหนีมาสู่เมืองไทยอีกหลาย ระลอก รวมทั้งกลุ่มที่หนีขึ้นเหนือไปสู่ล้านนา และเรียกกันว่าพวก “เม็ง” ในปัจจุบันนี้
ครั้งที่ 7 ใน พ.ศ. 2316 ตรงกับแผ่นดินกรุงธนบุรี มอญก่อกบฎในย่างกุ้ง พม่าปราบปรามอย่างทารุณแล้วเผาย่างกุ้งจนราบเรียบ ทำให้มอญอพยพเข้าไทยอีก พระเจ้าตากสินทรงโปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่  ปากเกร็ด ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มมอญเก่า (พระยารามัญวงศ์) และมอญใหม่ (พระยาเจ่ง) คนที่นับตัวเองเป็น มอญ ในปัจจุบันล้วนอพยพเข้ามาจากระลอกนี้ หรือหลังจากนี้ทั้งนั้น ส่วน มอญ ที่อพยพก่อนหน้านี้กลืนหายเป็นไทยไปหมด แม้แต่กลุ่มที่อยู่ตามชายแดนแถบเมืองกาญจนบุรี
ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2336 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ยึดเมืองทวายได้ แต่รักษาไว้ไม่ได้ ต้องถอยกลับเข้าไทย ก็นำเอาพวกมอญโดยเฉพาะที่เป็นพวกหัวหน้าเข้ามาอีก
ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2357 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เมื่อ มอญ ไม่พอใจที่ถูกพม่าเกณฑ์แรงงานก่อสร้างพระเจดีย์ ก่อกบฎที่เมืองเมาะตะมะ ถูกพม่าปราบ ต้องหนีเข้าไทยเป็นระลอกใหญ่มาก ราว 40,000 คนเศษ เจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 4) เสด็จเป็นแม่กองพร้อมด้วยกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ออกไปรับถึงชายแดน พวกนี้มาตั้งรกรากที่สามโคก ( ปทุมธานี ) ปากเกร็ด และพระประแดง มอญที่อพยพเข้ามาครั้งนี้เรียกกันว่ามอญใหม่ชุมชนมอญ
ชาวมอญได้อพยพมาพำนักอยู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระยาเกียรติและพระยารามขุนนางมอญที่มีความดีความชอบในราชการและกลุ่มญาติพี่น้องได้รับพระราชทานที่ดินตั้งบ้านเรือน ณ บ้านขมิ้น ซึ่งได้แก่บริเวณวัดขุนแสนในปัจจุบัน มอญในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งกลุ่มชาวมอญเก่าที่อยู่มาแต่เดิมและกลุ่มมอญใหม่ได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งชุมชนอยู่ชานกรุงศรีอยุธยาบริเวณวัดตองปุและคลองคูจาม
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงกลุ่มชาวมอญที่มีอาชีพฆ่าเป็ดไก่ขายที่ตลาดวัดวัวควาย และมีตลาดมอญขายขัน ถาดทองเหลือง ซึ่งเป็นทั้งตลาดสดด้วย ตั้งอยู่ภายนอกกำแพงเมืองด้านใต้ บริเวณปากคลองเกาะแก้วมีชาวมอญบรรทุกมะพร้าว ไม้แสมทะล และเกลือมาจำหน่าย
ในสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ผู้นำชุมชนชาวมอญในกรุงศรีอยุธยาคือสุกี้พระนายกอง ได้อาสากองทัพพม่าทำสงครามกับอยุธยา และรวบรวมกองทัพมอญได้ถึง 2,000 คน ในปัจจุบันแม้จะไม่มีชุมชนของผู้สืบเชื้อสายมอญภายในกรุงศรีอยุธยาอยู่ในบริเวณที่กล่าวถึงในประวัติศาสตร์แต่ก็ยังมีชุมชนมอญและกลุ่มวัฒนธรรมมอญกระจายอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากพระนครศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพฯหลายชุมชน ชาวมอญได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปตามที่ราบลุ่มริมน้ำภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี อยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบางส่วนตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ทางภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา มีบ้างเล็กน้อยที่อพยพลงใต้ อย่าง ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยมากเป็นแหล่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดฯ พระราชทานที่ดินทำกินให้แต่แรกอพยพเข้ามา
ชุมชนมอญในประเทศไทย
  • มอญบางจะเกร็ง จ.สมุทรสงคราม
  • มอญบางปลา จ.สมุทรสาคร
  • มอญบ้านเก่า จ.อุทัยธานี
  • มอญสลุย จ.ชุมพร
  • มอญหนองดู่ จ.ลำพูน
  • บ้านมอญ จ.นครสวรรค์
  • มอญบางไส้ไก่ กรุงเทพฯ
  • มอญบ้านโป่ง-โพธาราม จ.ราชบุรี
  • มอญกระทุ่มมืด จ.นครปฐม
  • มอญสามโคก จ.ปทุมธานี
  • มอญบ้านเสากระโดง จ.อยุธยา
  • คลองมอญ กรุงเทพฯ
  • สะพานมอญ กรุงเทพฯ
  • มอญปากเกร็ด จ.นนทบุรี
  • มอญบางกระดี่ กรุงเทพ
  • มอญบางขันหมาก จ.ลพบุรี
  • มอญคลองสิบสี่ (มอญหนองจอก) กรุงเทพฯ
  • มอญลาดกระบัง กรุงเทพฯ
  • มอญปากลัด (มอญพระประแดง) จ.สมุทรปราการ
  • มอญเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี
  • มอญ จ.สมุทรสาคร
  • มอญเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ
  • มอญปทุมธานี จ.ปทุมธานี

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เหตุผลที่ดฉันทำเรื่องวัฒนธรรมชาวมอญ เพราะว่าดิฉันเป็นคนสมุทรปราการ ซึ่่งบริเวณบ้านของดิฉันมีชาวมอญอาศัยอยู่บริเวณนั้น ระแวกบ้านของดิฉัน มีสองอำเภอ คือ อำเภอพระประเเดง เเละอำเภอเมือง
ซึ่งมีพระสมุทรเจดีย์กลางน้ำกลั้นชายฝั่งทั้งสองไว้ แต่ด้วยเวลาทำให้พื้นดินเชื่ิ่อมต่อกันพระสมุทรเจดีย์จึงอยู่ติดกับอำเภอพระประเเดง ที่มีชาวมอญเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ เเละอยู่กันเป็นหมู่บ้าน ยังหลงเหลือสถาปัตยกรรม ประเพณีเก่าเก่าอยู่มากมาย ซึ่งดิฉันก็ได้เคยไปสัมผัสมาเเล้ว จึงอยากที่จะนำมาเผยเเพร่ผ่าน Blogger ให้คนมี่สนใจได้มารู้จักกับชาวมอญ