วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมา


มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ มีอารยธรรมรุ่งเรืองมากชนชาติหนึ่ง จากพงศาวดารพม่ากล่าวว่า "มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่า มาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล" คาดว่าน่าจะอพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชีย เข้ามาตั้งอาณาจักรของตนทางตอนใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิ และแม่น้ำสะโตง ซึ่งบริเวณนี้ในเอกสารของจีน และอินเดียเรียกว่า "ดินแดนสุวรรณภูมิ"
ในพุทธศตวรรษที่ 2 ศูนย์กลาง ของ  "อาณาจักรมอญ"  คืออาณาจักรสุธรรมวดีหรือสะเทิม (Thaton) จากพงศาวดารมอญ กล่าวไว้ว่าอาณาจักรสะเทิมว่า อาณาจักรสะเทิมสร้างโดยพระราชโอรส 2 พระองค์ของพระเจ้าติสสะ แห่งแคว้นหนึ่งของอินเดีย ก่อนปี พ.ศ. 241 พระองค์นำ พลพรรคลงเรือสำเภา มาจอดที่อ่าวเมาะตะมะ และตั้งรากฐาน ซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของเมือง  อาณาจักรสะเทิม  รุ่งเรืองมาก มีการค้าขายติดต่ออย่างใกล้ชิดกับประเทศอินเดีย และลังกา และได้รับเอาอารยธรรมของอินเดียมาใช้ ทั้งทางด้านอักษรศาสตร์ และศาสนา โดยเฉพาะรับเอาพุทธศาสนานิกายหินยานมา มอญมีบทบาทในการถ่ายทอดอารยธรรมอินเดีย ไปยังชนชาติอื่นอย่าง  ชาวพม่า  ไทย และลาว เจริญสูง มีความรู้ดี ทางด้านการเกษตร และมีความชำนาญ ในการชลประทาน โดยเป็นผู้ริเริ่มระบบชลประทานขึ้น ในลุ่มน้ำอิระวดี ทางตอนกลางของประเทศพม่า

พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

วงศ์ของอาณาจักรชนชาติมอญนั้น อาจแบ่งได้เป็น 3 ยุค ยุคแรกคือยุคราชวงศ์สะเทิม-สุธรรมวดี มีกษัตริย์ปกครอง 57 พระองค์ เริ่มจากสมัยพระเจ้าสีหราชา มาจนถึงสมัยพระเจ้ามนูหา เชื่อว่ายุคนี้ครอบครองพื้นที่ได้ ทั้งอาณาจักรทวารวดีและอาณาจักรสะเทิม ยุคแรกสิ้นสุดลงเมื่อพระเจ้าอโนรธาแห่งพุกาม ยกทัพมาตีเมืองสะเทิมในสมัยพระเจ้ามนูหา ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านเชื่อว่าพระเจ้าอโนรธาน่าจะยกมาตีถึงนครปฐม
ยุคที่สอง เป็นยุคราชวงศ์พะโค-หงสาวดี มีกษัตริย์ปกครอง 17 พระองค์ องค์แรก ๆ คือ พระเจ้าสมละและพระเจ้าวิมละ และสิ้นสุดในสมัยพระเจ้าติสสะ ส่วนยุคที่ 3 คือยุคราชวงศ์เมาะตะมะ-พะโค เริ่มจากสมัยพระเจ้าวารีรู หรือพระเจ้าฟ้ารั่ว พระองค์มีมเหสีเป็นราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์ของไทย ต่อมาในสมัยพญาอู ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ เมืองพะโคหรือหงสาวดี ราชบุตรของพระองค์คือพญาน้อย ซึ่งต่อมาก็คือพระเจ้าราชาธิราช ผู้ทำสงครามยาวนานกับกษัตริย์พม่าในสมัยพระเจ้าซวาส่อแก กับ พระเจ้ามีงคอง ขุนพลสำคัญของพระเจ้าราชาธิราช ก็คือ สมิงพระราม ละกูนเอง และแอมูน-ทยา กษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญคือ พระเจ้าพยะมองธิราช ซึ่งพระเจ้าอลองพยาปราบมอญ จนพ่ายในปี ค.ศ. 1757


หลักฐานทางประวัติศาสตร์

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในสมัยพุทธศตวรรษที่ 11–13 คือเหรียญเงินเส้นผ่าศูนย์กลาง 19 ม.ม. พบที่นครปฐม และอู่ทองนั้น พบว่ามีอักษรจารึกไว้ว่า “ศรีทวารวดีศวร”และ มีรูปหม้อน้ำกลศอยู่อีกด้านหนึ่ง ทำให้เชื่อได้ว่า ชนชาติมอญโบราณ ได้ตั้งอาณาจักรทวารวดี (บางแห่งเรียกทวาราวดี) ขึ้นในภาคกลางของดินแดนสุวรรณภูมิ
มีศูนย์กลางที่เมืองนครปฐมโบราณ (ลุ่มแม่น้ำท่าจีนหรือนครชัยศรี) กับเมืองอู่ทองและเมืองละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาได้ขยายอำนาจขึ้นไป ถึงเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน มีหลักฐานเล่าไว้ว่า ราว พ.ศ. 1100 พระนางจามเทวี ราชธิดาของเจ้าเมืองลวปุระหรือละโว้ลพบุรี ได้อพยพผู้คนขึ้นไปตั้งเมืองหริภุญชัยที่ลำพูน ส่วนที่เมืองนครปฐมนั้นมีการพบ พระปฐมเจดีย์ และมีการพบจารึกภาษาปัลลวะ บาลี สันสกฤต และ ภาษามอญ ที่บริเวณพระปฐมเจดีย์และบริเวณใกล้เคียง พบจารึก ภาษามอญ อักษรปัลลวะ บันทึกเรื่องการสร้างพระพุทธรูป เสาหงส์ วิหาร และแนวต้นมะพร้าวเป็นอาณาเขตพระอารามที่วัดโพธิ์ร้าง จังหวัดนครปฐม อายุราว พ.ศ. 1200 (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์) และพบ จารึกมอญ ที่ลำพูนอายุราว พ.ศ. 1628 (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน)
ต่อมาอาณาจักรขอมหลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคตใน พ.ศ. 1732 อำนาจก็เริ่มเสื่อมลง รวมถึงให้พ่อขุนบางกลางหาว ที่สถาปนาเป็น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และประกาศตั้งอาณาจักรสุโขทัย เป็นอิสระจากการปกครองของขอม พ่อขุนรามคำแหง พระราชโอรสของขุนศรีอินทราทิตย์ ได้ครองราชย์และทรงดัดแปลงอักษรขอมและ มอญ มาประดิษฐเป็นลายสือไทย
ด้านจารึกภาษามอญ บนใบลานนั้น พบมากมายตาม หมู่บ้านมอญ ในประเทศไทย ส่วนที่ประเทศพม่าพบมากตาม หมู่บ้านมอญในเมืองสะเทิมและเมืองไจก์ขมี ซึ่งมีการคัดลอกและรวบรวมนำมาเก็บไว้ ที่หอสมุดแห่งชาติเมืองย่างกุ้ง และที่ห้องสมุดมอญเมืองเมาะลำไย นอกจากนี้กองโบราณคดีและกองวัฒนธรรม ยังได้จัดพิมพ์วรรณกรรม ชาดก ตำรามอญ และเคยมีการริเริ่มจัดพิมพ์พจนานุกรมมอญ-พม่าอีกด้วยมอญอพยพ
ทุกวันนี้ ชนชาติมอญ ไม่มีอาณาเขตประเทศปกครองตนเอง เนื่องจากตกอยู่ในภาวะสงคราม และการแย่งชิงราชสมบัติกันเอง และการรุกรานของพม่า ชาวมอญอยู่อย่างแสนสาหัส ถูกกดขี่รีดไถ การเกณฑ์แรงงานก่อสร้าง ทำไร่นาหาเสบียงเพื่อการสงคราม และเกณฑ์เข้ากองทัพ โดยเฉพาะสงครามในปี พ.ศ. 2300 เป็นสงครามครั้งสุดท้าย ที่คนมอญพ่ายแพ้แก่พม่าอย่างราบคาบ ชาวมอญส่วนหนึ่งจึงอพยพโยกย้ายเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในเมืองไทยหลายต่อหลายครั้ง เท่าที่มีการจดบันทึกเอาไว้รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เมื่อ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตีหงสาวดีแตกใน พ.ศ. 2082 ชาวมอญจำนวนมากหนีเข้ามากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตัวเมืองกรุงศรีอยุธยาชั้นนอก พระยาเกียรติพระยารามและครัวเรือน ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตัวเมืองชั้นใน ใกล้พระอารามวัดขุนแสน และเมื่อถึง พ.ศ. 2084 ราชวงศ์ตองอูตีเมืองเมาะตะมะแตก มีการฆ่าฟันชาวมอญลงขนาดใหญ่ ก็เข้าใจว่ามีมอญหนีเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาอีก ถือเป็นระลอกแรกของมอญอพยพ
ครั้งที่ 2 เมื่อพระนเรศวรเสด็จไปพม่าเมื่อคราวพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ แล้วประกาศเอกราช ทรงชักชวนมอญที่เข้าสวามิภักดิ์ ให้อพยพเข้ามาพร้อมกัน ราว พ.ศ. 2127 ในการอพยพครั้งนี้ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่ใด แต่คาดว่าคงเป็นย่านเดียวกับการอพยพคราวแรก
ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อหงสาวดีถูกยะไข่ทำลายใน พ.ศ. 2138 ครั้งนี้ก็มีการอพยพใหญ่ของ มอญ มาทางตะวันออกเข้าสู่ดินแดนของกรุงศรีอยุธยาอีก
ครั้งที่ 4 หลังจากที่ราชวงศ์ตองอูย้ายราชธานีไปอยู่ที่อังวะ หลังจากหงสาวดีถูกทำลายแล้ว พวกมอญ ตั้งอำนาจขึ้นใหม่ในดินแดนของตน ต่อมา ถึงรัชกาลพระเจ้านอกเปกหลุน พม่าจึงยกทัพมาปราบพวกมอญอีกในพ.ศ. 2156 ทำให้เกิดการอพยพของมอญเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาอีก หลักฐานบางแห่งกล่าวว่า มอญ กลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามแนวชายแดนไทย
ครั้งที่ 5 ใน พ.ศ. 2204 หรือ 2205 พวกมอญในเมืองเมาะตะมะก่อการกบฎขึ้นอีก แต่ถูกพม่าปราบลงได้ จึงต้องอพยพหนีเข้ากรุงศรีอยุธยาอีกระลอกหนึ่ง ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้าใจว่ากลุ่มนี้สัมพันธ์กับกลุ่มมอญที่ตั้งอยู่ชายแดน
ครั้งที่ 6 หลังจากที่มอญสามารถตั้งอาณาจักรของตนขึ้นได้ใหม่ในปลายราชวงศ์ตองอู แล้วยกกำลังไปตีกรุงอังวะแตก อลองพญารวบรวมกำลังพม่าแล้วลุกขึ้นต่อสู้จนในที่สุดก็ตั้งราชวงศ์อลองพญาได้ และใน พ.ศ. 2300 ก็สามารถตีหงสาวดีได้อีก นโยบายของราชวงศ์นี้คือ กลืน มอญ ให้เป็นพม่าโดยวิธีรุนแรง จึงมีชาวมอญอพยพหนีมาสู่เมืองไทยอีกหลาย ระลอก รวมทั้งกลุ่มที่หนีขึ้นเหนือไปสู่ล้านนา และเรียกกันว่าพวก “เม็ง” ในปัจจุบันนี้
ครั้งที่ 7 ใน พ.ศ. 2316 ตรงกับแผ่นดินกรุงธนบุรี มอญก่อกบฎในย่างกุ้ง พม่าปราบปรามอย่างทารุณแล้วเผาย่างกุ้งจนราบเรียบ ทำให้มอญอพยพเข้าไทยอีก พระเจ้าตากสินทรงโปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่  ปากเกร็ด ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มมอญเก่า (พระยารามัญวงศ์) และมอญใหม่ (พระยาเจ่ง) คนที่นับตัวเองเป็น มอญ ในปัจจุบันล้วนอพยพเข้ามาจากระลอกนี้ หรือหลังจากนี้ทั้งนั้น ส่วน มอญ ที่อพยพก่อนหน้านี้กลืนหายเป็นไทยไปหมด แม้แต่กลุ่มที่อยู่ตามชายแดนแถบเมืองกาญจนบุรี
ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2336 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ยึดเมืองทวายได้ แต่รักษาไว้ไม่ได้ ต้องถอยกลับเข้าไทย ก็นำเอาพวกมอญโดยเฉพาะที่เป็นพวกหัวหน้าเข้ามาอีก
ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2357 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เมื่อ มอญ ไม่พอใจที่ถูกพม่าเกณฑ์แรงงานก่อสร้างพระเจดีย์ ก่อกบฎที่เมืองเมาะตะมะ ถูกพม่าปราบ ต้องหนีเข้าไทยเป็นระลอกใหญ่มาก ราว 40,000 คนเศษ เจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 4) เสด็จเป็นแม่กองพร้อมด้วยกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ออกไปรับถึงชายแดน พวกนี้มาตั้งรกรากที่สามโคก ( ปทุมธานี ) ปากเกร็ด และพระประแดง มอญที่อพยพเข้ามาครั้งนี้เรียกกันว่ามอญใหม่ชุมชนมอญ
ชาวมอญได้อพยพมาพำนักอยู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระยาเกียรติและพระยารามขุนนางมอญที่มีความดีความชอบในราชการและกลุ่มญาติพี่น้องได้รับพระราชทานที่ดินตั้งบ้านเรือน ณ บ้านขมิ้น ซึ่งได้แก่บริเวณวัดขุนแสนในปัจจุบัน มอญในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งกลุ่มชาวมอญเก่าที่อยู่มาแต่เดิมและกลุ่มมอญใหม่ได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งชุมชนอยู่ชานกรุงศรีอยุธยาบริเวณวัดตองปุและคลองคูจาม
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงกลุ่มชาวมอญที่มีอาชีพฆ่าเป็ดไก่ขายที่ตลาดวัดวัวควาย และมีตลาดมอญขายขัน ถาดทองเหลือง ซึ่งเป็นทั้งตลาดสดด้วย ตั้งอยู่ภายนอกกำแพงเมืองด้านใต้ บริเวณปากคลองเกาะแก้วมีชาวมอญบรรทุกมะพร้าว ไม้แสมทะล และเกลือมาจำหน่าย
ในสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ผู้นำชุมชนชาวมอญในกรุงศรีอยุธยาคือสุกี้พระนายกอง ได้อาสากองทัพพม่าทำสงครามกับอยุธยา และรวบรวมกองทัพมอญได้ถึง 2,000 คน ในปัจจุบันแม้จะไม่มีชุมชนของผู้สืบเชื้อสายมอญภายในกรุงศรีอยุธยาอยู่ในบริเวณที่กล่าวถึงในประวัติศาสตร์แต่ก็ยังมีชุมชนมอญและกลุ่มวัฒนธรรมมอญกระจายอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากพระนครศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพฯหลายชุมชน ชาวมอญได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปตามที่ราบลุ่มริมน้ำภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี อยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบางส่วนตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ทางภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา มีบ้างเล็กน้อยที่อพยพลงใต้ อย่าง ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยมากเป็นแหล่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดฯ พระราชทานที่ดินทำกินให้แต่แรกอพยพเข้ามา
ชุมชนมอญในประเทศไทย
  • มอญบางจะเกร็ง จ.สมุทรสงคราม
  • มอญบางปลา จ.สมุทรสาคร
  • มอญบ้านเก่า จ.อุทัยธานี
  • มอญสลุย จ.ชุมพร
  • มอญหนองดู่ จ.ลำพูน
  • บ้านมอญ จ.นครสวรรค์
  • มอญบางไส้ไก่ กรุงเทพฯ
  • มอญบ้านโป่ง-โพธาราม จ.ราชบุรี
  • มอญกระทุ่มมืด จ.นครปฐม
  • มอญสามโคก จ.ปทุมธานี
  • มอญบ้านเสากระโดง จ.อยุธยา
  • คลองมอญ กรุงเทพฯ
  • สะพานมอญ กรุงเทพฯ
  • มอญปากเกร็ด จ.นนทบุรี
  • มอญบางกระดี่ กรุงเทพ
  • มอญบางขันหมาก จ.ลพบุรี
  • มอญคลองสิบสี่ (มอญหนองจอก) กรุงเทพฯ
  • มอญลาดกระบัง กรุงเทพฯ
  • มอญปากลัด (มอญพระประแดง) จ.สมุทรปราการ
  • มอญเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี
  • มอญ จ.สมุทรสาคร
  • มอญเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ
  • มอญปทุมธานี จ.ปทุมธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น