๑. | ผีประจำหมู่บ้าน |
|
| เชื่อกันว่าเป็นผีที่ปกปักรักษาและคุ้มครองคนในหมู่บ้านทั้งหมด โดยมากจะสร้างศาลให้เป็นที่ประดิษฐานไว้ในหมู่บ้านบริเวณชายทุ่ง ซึ่งผู้คนสามารถมาเซ่นไหว้ได้อย่างสะดวก และจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คนในหมู่บ้าน โดยมี"คนทรง" เป็นผู้ประกอบพิธีพร้อมทั้งเข้าทรงทำนายทายทัก ถึงสภาพความเป็นไปในปัจจุบัน ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของอนาคต หรือแก้ไขปัญหาเดือดร้อนต่าง ๆ เป็นต้น |
|
๒. | ผีบ้านผีเรือน เป็นผีประจำตระกูล ซึ่งส่วนใหญ่จะตกทอดการสืบผีไปยังบุตรชาย คนหัวปีเรื่อยไปแต่ที่ตำบลเจ็ดริ้ว การสืบผีประจำตระกูลนั้นจะตกทอดไปยังบุตรชายคนสุดท้องแทน หากไม่มีบุตรชายสืบสกุลผีนั้นก็จะขาดจากสกุลนั้นไป จึงต้องมีการรับผีประจำตระกูลด้วยการให้ ผู้ที่รับจะต้องทำหน้าที่เก็บรักษาสมบัติประจำตัวผี อันประกอบไปด้วย แหวนผี ๑ วง เสื้อ ๑ ตัว ผ้าโพกหัว ๑ ผืน โสร่ง ๑ ผืน หม้อ ๑ ใบ |
|
|
ซึ่งของทั้งหมดจะเก็บรวมไว้ในตะกร้าแขวนไว้ที่เสาตรงหัวนอนของผู้รับผีนั้น และหน้าที่ของผู้รับผีอีกประการหนึ่งก็คือ ทำการรำผีตามประเพณีอยู่เสมอ |
|
อนึ่ง หากมีเหตุการณ์ต่าง ๆ อันไม่คาดฝันเกิดขึ้น อาทิ คนในครอบครัวเจ็บป่วยบ่อย ๆ สมบัติผีชำรุดเช่นพลอยบนหัวผีหลุด แหวนผีหาย ผ้าในตะกร้าขาด ตลอดจนเกิดเรื่องเดือดร้อน ต่าง ๆ เป็นต้น ฉนั้น เมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ในแต่ละครอบครัว ก็จะต้องจัดให้มีการรำผี เพื่อขอขมาโทษต่อผี แสดงความเคารพนับถือ และความเป็นศิริมงคลแก่ครอบครัว ผีจะได้หายโกรธเคือง จะได้ไม่มีเรื่องเดือดร้อนอีก และบังเกิดแต่ความสุขความเจริญตลอดไป |
นอกจากผีทั้งสองชนิดนี้แล้ว ชาวมอญยังนับถือผีที่เป็นสัตว์ หรือพืชต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับผีบ้านผีเรือน เช่น ผีเต่า ผีงู ผีปลาไหล ผีไก่ ผีข้าวเหนียว ฯลฯ
ความเชื่อของชาวไทยมอญ
ในหนังสือ 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ.2547 ผศ.อาภรณ์ สุนทรวาท ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้รวบรวมความเชื่อของชาวไทยมอญ ไว้ดังนี้
- เชื่อว่าการทำบุญให้ทานอะไรก็ตามย่อมส่งผลถึงผู้ที่เราปรารถนาจะอุทิศส่วนกุศลให้ ชาวไทยมอญส่วนใหญ่ปรารถนาจะนิพพาน โดนสังเกตจากคำอธิษฐานที่ว่า"นิพพาน ปัจจะโยโหตุ" ขอให้เป็นปัจจัย สำเร็จพระนิพพานด้วยเทอญ
- เชื่อว่าการไปทำบุญ จะต้องแต่งตัวให้ถูกต้องตามกาละเทศะ ภาชนะที่ใส่อาหารไปทำบุญจะต้องตระเตรียมอย่างปราณีต เพราะจะส่งผลไปถึงอนาคตชาติ
- มีความเชื่อว่าการทำบุญที่ทำบุญแล้วได้บุญมากคือ -การสร้างพระพุทธ คือ การสร้างพระพุทธรูป-การสร้างพระธรรม คือ การสร้างพระไตรปิฏก และพระอภิธรรม-การสร้างพระสงฆ์ คือ การบวชพระ
- มีความเชื่อในการนับถือพระพุทธศาสนา ชาวไทยมอญมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก โดยถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นองค์เคารพสักการะบูชาสูงสุด
- ความเชื่อในการนับถือพระพุทธศาสนา และเคร่งครัดในศาสนา พระมอญจะถือเคร่งทางวินัยมาก ถึงกับมีคำที่ว่า"ถือศีลต้องพระไทย วินัยต้องพระมอญ" ซึ่งการถือศีลอย่างเคร่งครัดจึงเป็นต้นกำเนิดของพระธรรมยุติกนิกายในประเทศไทย
- ปัจจุบันนี้พระมอญยังเคร่งครัดวินัยอยู่ จะไม่เห็นพระมอญในเวลากลางวันอาบน้ำริมน้ำมานั่งเล่นหน้าวัด เดินไปในหมู่บ้าน เป็นต้น
- ในวัดมอญทุกวัด จะมีศาลเจ้าประจำวัด มอญเรียกว่า "ตะละพาน"
- ชาวบ้านจะเคารพสถานที่ในวัด
- ความเชื่อว่าวัดใน ช่อฟ้าใบระกา หน้าบันพังทลายลงมา อย่าไดนำขึ้นไปอีก
- มีความเชื่อว่าวัดใดที่กำลังปลุกเสกพระอยู่ ผู้หญิง สุนัข เข้าไปไม่ได้
- มีความเชื่อเรื่องการบวชเรียน มักจะเห็นว่า ชาวบ้านเดินผ่านหน้าโบสถ์ก็ต้องแสดงความเคารพกราบไหว้พระ ผู้หญิงห้ามเข้าไปในโบสถ์หรือบริเวณกุฏิพระ ชาวไทยมอญมีความเชื่อว่า ลูกผู้ชายที่เกิดในสายเลือดของชาวพุทธจะต้องบวช ชีวิตลูกผู้ชายถึงจะสมบูรณ์และได้กุศลอย่างแรง
- มีความเชื่อ เมื่อบ้านใดมีทารกเกิดใหม่จะต้องนำทารกนั้นไปใส่ในกระด้งร่อน แล้วพูดว่า "สามวันลูกผี สี่วันลูกคน" ต่อเด็ก
- มีความเชื่อเรื่องการโกนผมไฟ การโกนผมไฟ เป็นการสู่ขวัญเด็ก และสู่ขวัญบิดามารดา เพื่อให้เกิดความสบายใจ ด้วยเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของพิธี ที่จะทำให้เป็นมงคลต่อเด็ก
- มีความเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำประณีตได้ประณีต
- มีความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกเรือนว่า เวลาปลูกสร้างบ้านเรือนให้ปลูกวันเกิดของผู้สร้าง (เจ้าของ)
- มีความเชื่อว่า เวลาปลูกบ้านต้องปลูกให้เสาเท่ากันหมด เชื่อว่าจะมีความสุข
- มีความเชื่อว่า เมื่อจะขึ้นบ้านใหม่ต้องเลือกวันและมีกำหนดไว้ว่าแต่ละวันจะทำอะไร
- มีความเชื่อเกี่ยวกับ ความกตัญญูกตเวที น้องๆ ควรเชื่อฟังพี่คนโตซึ่งได้ถ่ายทอดผีบรรพบุรุษแห่งตระกูล
- มีความเชื่อว่า ระบบเพื่อนบ้านและระบบเครือญาติทำให้การเป็นอยู่ในสังคม มีการพึ่งพาถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันให้ความเกรงใจและความเคารพนับถือกัน
- มีความเชื่อว่า บุคคลที่มีนามสกุลเดียวกัน จะจัดงานบวชนาคกับแต่งงานวันเดยวกันไม่ได้
- เมื่อมีลูกสาวที่แต่งงานแล้ว จะให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น ไม่ให้นอนบ้านเดียวกับพ่อแม่
- มีความเชื่อว่า ตุ๊กตาเป็นสิ่งไม่ดี จึงห้ามนำเข้าบ้าน เพราะจะทำให้ไม่มีความสุข
- มีความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้ว่า ห้ามปลูกต้นราตรี ต้นลั่นทม ต้นพิกุล ไว้ในบ้านเพราะต้นไม้เหล่านี้เป็นต้นไม้ที่อยู่ในวัด
- มีความเชื่อว่า ต้นไม้ที่มีชื่อต่อไปนี้ คือ ต้นโพธิ์ ต้นหว้า ต้นบุนนาค ต้นงิ้ว ถ้างอกขึ้นข้างๆ บ้าน รีบทำลายเสียอย่าได้เก็บไว้ จะทำให้เจ้าของบ้านได้รับความเสียหาย
- มีคววามเชื่อในเรื่องเต่า ชาวไทยมอญจะไม่จับเต่ามาเป็นอาหาร ไม่จับตัวเต่าที่มีชีวิต เมื่อพบเห็นจึงต้องพูดว่า "เต่าตัวนี้ตายแล้ว" เพื่อเป็นการแก้เคล็ด แล้วนำเต่าไปปล่อย
- มีความเชื่อว่า ศพคนตายต้องหันหน้าไปทางทิศเหนือ
- มีความเชื่อว่า ภายในเดือน 6 เดือน 9 จะมีการทำพิธีไหว้ผีบ้านผีเรือน ปู่ย่า ตายาย โโยมีเครื่องไหว้ คือ กล้วย ไก่ หมู ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว
- มีความเชื่อว่า ที่บ้านชาวไทยมอญจะต้องมีที่ตั้งบูชาผีบรรพบุรุษ มีวิธีเซ่นผี เลี้ยงผี พิธีรำผี
- มีความเชื่อและเคารพบรรพบุรุษ ไม่ว่าท่านจะล่วงลับไปแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม เพราะการเคารพเทิดทูนบูชาบรรพบุรุษ ย่อมนำความเจริญมาถึงตนและครอบครัว ตามหลักพระพุทธศาสนาที่ว่า "ปูชนียานัง" หมายถึงการบูชาบุคคลที่ควรเคารพ
- มีความเชื่อว่า บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วยังหิวโหยอยู่ ยังชอบนับประทานอาหารตามเทศกาล กล่าวคือขนมกาละแม จะมีในเทศกาลสงกรานต์ ขนมกระยาสารทมีในเทศกาลออกพรรษา ข้าวเม่าทอด มีในเทศกาลทอดกฐิน ข้าวต้มลูกโยนน้ำผึ้ง มีในวันเพ็ญเดือนสิบ ดังนั้นอาหารที่นำไปถวายพระ จะต้องทำอาหารให้ถูกเทศกาล ไม่เช่นนั้นแล้วบรรพบุรุษจะไม่ได้รับส่วนกุศลที่อุทิศไปให้
- มีความเชื่อว่า บรรพบุรุษกับพวก เขาสามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลา และมักจะพบว่า ผีบรรพบุรุษได้รู้ด้วยการเซ่นไหว้อยู่เสมอ การทำบุญต้องอุทิศส่วนกุศลให้ การแต่งงานถือว่าจำเป็นจะต้องบอกให้ผีบรรพบุรุษรู้ เพราะถือว่ามีสมาชิกใหม่มาเพิ่มในครอบครัว ต้องให้ผีบรรพบุรุษทั้งสองฝ่ายรับรู้ โดยจัดสิ่งของเซ่นไหว้ เช่น ผ้าขาว เหล้า ไก่ โดยฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นฝ่ายจัดหา ที่เรียกว่า เครื่องขันหมากจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งให้เจ้าสาว เซ่นไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาว อีกส่วนให้เจ้าบ่าวนำไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษของเจ้าบ่าว
- มีความเชื่อว่า ผีบรรพบุรุษ เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ที่เคารพมาแต่อยู่กรุงหงสาวดี และอัญเชิญมาประดิษฐานในชุมชนของตัวเอง โดยปลูกศาลเจ้าให้เป็นที่สถิตดวงวิญญาณเหล่านั้น เพราะความผูกพันก็มีอยู่ตลอดเวลา
- มีความเชื่อในผีบรรพบุรุษ ชาวไทยมอญมีความเชื่อว่า ลูกชายคนโตของตระกูลจะเป็นผู้รับผีบรรพบุรุษต่อจากบิดา-มารดา หรือคนรุ่นเก่าที่ล่วงลับไปแล้ว ที่บ้านจะมีที่ตั้งผีบรรพบุรุษ เชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะสิงสถิตอยู่ที่เสาเอกของเรือน โดยมีสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเสาผี คือ หีบ หรือกระบุ้งใส่ผ้าผี ได้แก่ สไบ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า แหวนหัวพลอยแดง แขวนไว้ที่เสาผี
- เชื่อว่า การที่ผู้หญิงไปแต่งงานกับคนต่างตระกูลหรือต่างผี จะต้องทำพิธีคืนผีเพื่อบอกกล่าวก่อนที่จะไปเข้ากับผีฝ่ายสามี
- เชื่อว่า ผู้ใดที่อยู่ในตระกูลทำผิดซึ่งระเบียบหรือข้อห้าม จะทำให้มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นซึ่งจะต้องจัดพิธรรำผี
- เชื่อว่า ชายหญิงที่ไม่ใช่ลูก (คนละผีกัน) จะร่วมหลับนอนกันภายในบ้านไม่ได้
- มีความเชื่อว่า หญิงมีครรภ์ที่ไม่ใช่ลูกสาวห้ามนอนบนเรือน
- มีความเชื่อว่า เมื่อมีคนในตระกูลตายหรือท้องในปีนั้น (สิ้นสุดเดือน 6) ห้ามคนในตระกูลจัดงานพิธีต่างๆ เช่น พิธโกนจุก แต่งงาน บวช หรือเลี้ยงผี
- มีความเชื่อว่า หมู่บ้านชาวไทยมอญทุกหมู่บ้าน จะต้องมีศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ทุกๆ ปีหลังสงกรานต์แล้วจะต้องทำพิธี "รำเจ้า" ประจำหมู่บ้าน
|
ยังมีชุมชนมอญ อีกที่ จ.เพชรบุรี ค่ะ
ตอบลบชื่อ ชุมชนวัดบางลำภู ต.บางครก อ.บ้านแหลม
เรีียกว่า วัดบ้านมอญก็ได้ ที่นี่มีประเพณีของมอญ
ที่วัดจะสวดมอญด้วยค่ะ สงกรานต์มีการละเล่นทุกอย่าง เจ้าอาวาสท่านให้รักษาประเพณีชาวมอญเอาไว้ จวบถึงวันนี้ ช่วงสงกรานต์จะมีการแข่งขัน ทอยสะบ้า แบบกีฬาที่แบ่งออกเป็น2 ฝั่ง สนุกมากจัดแข่งขันทั้งรุ่นเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย ขอบอกสนุกมากๆ(แบบไม่เหมือนพระประแดง)ส่งเสริมโดย อบต.สนใจติดตามท่องเที่ยวได้ ที่หมู่บ้านมอญ บางลำภูค่ะ