วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเพณีของชาวมอญ

ประเพณีของชาวมอญ



ประเพณีสงกรานต์ ชาวไทยและมอญกำหนดให้วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน ของทุกปี เช่นกัน อันเป็นระยะเวลาที่ชาวมอญจะร่วมประกอบประเพณีทางศาสนาอย่างพร้อมเพรียงกันถึง ๓ วัน ติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่การทำบุญเลี้ยงพระ ด้วยข้าวสงกรานต์ (ข้าวแช่) การแห่นกแห่ปลาไปปล่อยที่วัด การแห่หางหงส์ การสรงน้ำพระ การรดน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ตลอดจนการเล่นสาดน้ำสงกรานต์การเล่นสะบ้า และการเล่นทะแยมอญ แม้ว่าปัจจุบันมอญบางกลุ่ม เช่นที่ตำบลเจ็ดริ้ว จะละเว้นบ้างบางพิธีและหันมาปฏิบัติตามแบบไทย เพื่อความสะดวก ประหยัดเวลาและเงิน ตลอดจนขาดผู้ริเริ่ม บางพิธีในประเพณีสงกรานต์จึงเริ่มจะสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย เช่น การเล่นสะบ้า และการเล่นทะแยมอญ เป็นต้น แต่ก็ยังพอหาดูได้จาก มอญกลุ่มอื่น ๆ เช่น ที่ปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นต้น

การเล่นสะบ้า และทะแยมอญ เป็นการละเล่นของชาวมอญที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ ทว่า ปัจจุบันหาดูได้ยาก เนื่องจากเสื่อมความนิยมลงเช่นกัน จึงคงเหลืออยู่เฉพาะหมู่บ้านมอญบางแห่ง เท่านั้น เช่น ที่หมู่บ้านมอญ ตำบลบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ กับที่ปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และปัจจุบัน ณ วัดคลองครุ ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น

การเล่นสะบ้า เดิมนิยมเล่นกันในหมู่หนุ่มสาวมอญ ที่ยังเป็นโสด โดยจะใช้เวลาเล่นตอนเย็น หลังจากว่างงานหรือเสร็จสิ้นการทำบุญสงกรานต์แล้ว จะนัดหมายกัน ณ บริเวณลานบ้านใดบ้านหนึ่ง ภายในหมู่บ้านของตน พร้อมกับแบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายหญิงกับชายในจำนวนที่เท่ากัน และใช้ลูกสะบ้า ซึ่งทำด้วยไม้ลักษณะกลม ๆ แบน ๆ สำหรับทอย หรือเขย่งเตะ หรือโยนด้วยเท้าแล้วแต่โอกาส เป็นเครื่องมือประกอบการเล่นกะให้ถูกคู่เล่นของตน เพื่อจะได้ออกมาเล่นกันเป็นคู่ต่อไป

การเล่นทะแยมอญ เป็นการเล่นที่ใช้ได้เกือบทุกโอกาส ตั้งแต่ โกนจุก บวชนาค แต่งงาน ฉลองพระ ขึ้นบ้านใหม่ แก้บนเจ้า งานศพ ฯลฯ ประกอบด้วยผู้เล่นซึ่งทำหน้าที่ทั้งร้องและรำ ฝ่ายชายและหญิงฝ่ายละ ๑ คน มีเครื่องตนตรีประกอบการเล่น ๕ อย่าง คือ ซอสามสาย ขลุ่ย จะเข้ กลองเล็กสองหน้า ฉิ่ง ผู้เล่นจะร้องรำโต้ตอบกันด้วยเรื่องต่าง ๆ เป็นภาษามอญตามที่นิยมกัน หรือตามความประสงค์ของเจ้าภาพ เช่น เรื่องทศชาติ ชาดก ธรรมสอนใจ วัฒนธรรมสิบสองเดือน และเพลงเกี้ยวพาราสี เป็นต้น ทำนองเดียวกันกับเล่นลำตัดของไทยนั่นเอง จึงมีชาวมอญบางคนเรียกทะแยมอญว่า ลำตัดมอญ

ประเพณีรำผี เป็นพิธีที่สำคัญพิธีหนึ่งของชาวมอญ ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี และปัจจุบันยังคงประกอบพิธีนี้บ้างในอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยมีความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องจากความเคารพนับถือผีตั้งแต่ผีประจำหมู่บ้าน ผีบ้านผีเรือน ผีเต่า ผีงู ผีปลาไหล ผีไก่ ผีข้าวเหนียวเป็นต้น เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บุคคลในครอบครัว ผีจะได้อำนวยความเจริญรุ่งเรืองตามประสงค์ได้ เช่นคนในครอบครัวเจ็บป่วยบ่อย ๆ สมบัติผีชำรุด ของหาย ตลอดจนเกิดเรื่องเดือดร้อนต่าง ๆ อันถือว่าเป็นการผิดผี ในแต่ละครอบครัวจะต้องจัดให้มีการรำผี เพื่อขอขมาโทษต่อผีให้ผีหายโกรธเคือง จะได้ไม่มีเรื่องเดือดร้อนเกิดขึ้นอีก และบังเกิดแต่ความสุขความเจริญตลอดไป

พร้อมกันนั้นในการรำผีนอกจะต้องจัดเครื่องเซ่นตามประเพณีแล้ว ยังต้องสร้างโรงพิธีสำหรับใช้ในการรำผี รวมทั้งจะต้องมีเครื่องดนตรีต่าง ๆ ประกอบเช่น พิณพาทย์ ตะโพน ฉิ่ง ฯลฯ โดยให้ญาติพี่น้องที่นับถือผีเดียวกันและผู้ป่วยร่วมกันร่ายรำไปตาม จังหวะดนตรีจนกว่าจะเสร็จพิธี

ประเพณีล้างเท้าพระ เป็นอีกประเพณีหนึ่งในหลาย ๆ ประเพณีของชาวมอญ ในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่เช่นเดียวกับมอญ ในจังหวัดอื่น ๆ อาทิ จังหวัดสมุทรปราการ โดยจัดทำขึ้นในวันทำบุญออกพรรษาซึ่งเริ่มจากการนำดอกไม้ต่าง ๆ หลากหลายสีมาวางบนผ้าที่ปูลาดไว้กับพื้นดินเพื่อให้พระสงฆ์ที่กำลัง จะเดินเข้าสู่พระอุโบสถ เหยียบหรือย่ำ ถือเป็นการล้างเท้าพระภิกษุที่ได้ปฏิบัติรักษาศีลมาตลอดพรรษา และเป็นอีก ประเพณีหนึ่งซึ่งจัดว่าเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติอีกเช่นกัน

1 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุญาติแนะนำการแสดงทะแยมอญครับใครสนใจคลิ๊กไปตามลิ้งได้เลยครับ
    https://www.youtube.com/playlist?list=PLWmWyO3j6qG_7W56XN751Pwt_GLeiyQpJ

    ตอบลบ